วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

ตำนานดอกไม้

ตำนานของดอกกุหลาบ
กุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความโรแมนติก ซึ่งมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของ เทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงาม และความรัก วีนัสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อโฟรไดท์ ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของ อโฟรไดท์ เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม
บางตำนานกล่าวว่ากุหลาบเกิดจากการชุมนุมของบรรดาทวยเทพ เพื่อประทานชีวิตใหม่ให้กับนางกินรีนางหนึ่ง ซึ่งเทพธิดาแห่งบุปผาชาติ หรือ คลอริส บังเอิญไปพบนางนอนสิ้นชีพอยู่ ในตำนานนี้กล่าวว่า อโฟรไดท์ เป็นเทพผู้ประทานความงามให้ มีเทพอีกสามองค์ประทานความสดใส เสน่ห์ และความน่าอภิรมย์ และมี เซไฟรัส ซึ่งเป็นลมตะวันตกได้ช่วยพัดกลุ่มเมฆ เพื่อเปิดฟ้าให้กับแสงของเทพ อพอลโล หรือแสงอาทิตย์ส่องลงมาเพื่อประทานพรอมตะ จากนั้น ไดโอนีเซียส เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นก็ประทานน้ำอมฤต และกลิ่นหอม เมื่อสร้างบุปผาชาติดอกใหม่นี้ขึ้นมาได้แล้ว เทพทั้งหลายก็เรียกดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมและทรงเสน่ห์นี้ว่า Rosa จากนั้น เทพธิดาคลอริส ก็รวบรวมหยดน้ำค้างมาประดับเป็นมงกุฎ เพื่อมอบให้ดอกไม้นี้เป็นราชินีแห่งบุปผาชาติทั้งมวล จากนั้นก็ประทานดอกกุหลาบให้กับเทพ อีโรส ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก กุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรัก แล้วเทพ อีโรส ก็ประทานกุหลาบนี้ให้แก่ ฮาร์โพเครติส ซึ่งเป็นเทพแห่งความเงียบ เพื่อที่จะเก็บซ่อนความอ่อนแอของทวยเทพทั้งหลาย ดอกกุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเงียบและความเร้นลับอีกอย่างหนึ่ง
กุหลาบกลายเป็นของขวัญ ของกำนัลสำหรับการแสดงความรัก และมักจะมีผู้เปรียบเทียบความงามของผู้หญิงเป็นเสมือนดอกกุหลาบ และผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ได้รับสมญาว่าเป็นผู้หญิงงามเสมือนดอกกุหลาบคือ พระนางคลีโอพัตรา ซึ่งพระนางยังได้เคยต้อนรับ มาร์ค แอนโทนี คนรักของพระนาง ในห้องซึ่งโรยด้วยดอกกุหลาบหนาถึง 18 นิ้ว หอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นกุหลาบ
กุหลาบมาจากคำว่า "คุล" ในภาษาเปอร์เชีย แปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" และเข้าใจว่าจากเปอร์เซียได้แพร่เข้าไปในอินเดีย เพราะในภาษาฮินดีมีคำว่า "คุล" แปลว่า "ดอกไม้" และคำว่า "คุลาพ" หมายถึงกุหลาบอย่างที่ไทยเราเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น "กุหลาบ" ส่วนคำว่า "Rose" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า "Rhodon" ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก
กุหลาบเข้ามาเมืองไทยสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และที่แน่นอนอีกแห่งก็คือ ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กล่าวถึงกุหลาบไว้ว่า

กุหลาบกลิ่นเฟื่องฟุ้ง เนืองนอง
หอมรื่นชื่นชมสอง สังวาส
นึกกระทงใส่พานทอง ก่ำเก้า
หยิบรอจมูกเจ้า บ่ายหน้าเบือนเสีย

สำหรับตำนานดอกกุหลาบของไทยเล่ากันว่า เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งนางได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มากแต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาบให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา
มีหลายตำนานเล่าถึงการเกิดกุหลาบสีขาวและกุหลาบสีแดงไว้แตกต่างกัน ตำนานหนึ่งเล่าว่า กุหลาบขาว เกิดขึ้นก่อน กุหลาบแดง เดิมทีมีนกไนติงเกลตัวหนึ่งมาหลงรักเจ้าดอกกุหลาบขาวแสนสวย ขณะที่มันกำลังจะโอบกอดดอกกุหลาบด้วยความรักนั้นเอง หนามกุหลาบก็ทิ่มแทงที่หน้าอกของมันหยดเลือดของเจ้านกไนติงเกลเลยทำให้ดอกกุหลาบสีขาวกลายเป็นสีแดง เลยมีดอกกุหลาบสีแดงนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนอีกตำนานหนึ่งก็เล่าว่ากุหลาบสีแดงใน สวนอีเดน เกิดจาการจุมพิตของ อีฟ เจ้าดอกกุหลาบขาวที่หญิงสาวจุมพิต เลยเกิดอาการขวยเขินจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง นอกจากนี้ ความหมายของความรักในศาสนาคริสต์ ถือว่ากุหลาบสีขาวแทนความบริสุทธิ์ของ พระแม่มาเรีย และกุหลาบสีแดงเกิดจากหยาดพระโลหิตของ พระเยซูเจ้า เมื่อถูกสวมมงกุฎหนาม มันจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประกาศศาสนาที่พลีชีพเพื่อพระผู้เป็นเจ้า
ตำนานดอกไฮยาซิน
" ดอกไฮยาซิน " เป็นดอกไม่ที่ฝรั่งชอบกันมาก สาวไทยเราก็เห็นกันบ่อย ๆ ในแม่น้ำลำคลอง เพราะมันก็คือ " ดอกผักตบชวา " นั่นเอง ตำนานของดอกไม้ดอกนี้ค่อนข้างเศร้าเป็นบทเรียนถึงแรงริษยาที่ทำลายชีวิตบริสุทธิ์ให้พินาศไป ว่ากันว่า " ไฮยาซิน " เป็นชื่อของพระราชกุมารโอรสของกษัตริย์องค์หนึ่ง พระโอรสองค์นี้ทรงหล่อมาก ๆ จนแม้แต่เทพอย่าง " อพอลโล่ " ก็ยังมาติดเนื้อต้องใจแวะเวียนมาหาอยู่บ่อย ๆ จนในที่สุดก็ลืมกลับสวรรค์ไปเลย แต่คนหล่อ ๆ ก็ต้องมีคนหมายปองเป็นธรรมดา นอกจากอพอลโล่แล้วเทพเจ้าลมตะวันตก " เชอฟีรัส " ก็แอบหลงรักไฮยาซินอยู่เหมือนกัน เซอฟีรัสพยายามรอจังหวะที่อพอลโล่จะกลับสวรรค์เสียที่ ตัวเองจะได้เข้ามาจีบเจ้าชายรูปงามบ้าง แต่รอเท่าไรอพอลโล่ก็มัวแต่กินเด็กไม่ยอมไปไหน ความรักของเซอฟิรัสก็เลยเปลี่ยนเป็นความหึงและความเกลียด เมื่อฉันไม่ได้คนอื่นก็อย่าหวังจะได้ ว่างั้นเถอะ วันหนึ่งอพอลโล่กับไฮยาซินเล่นขว้างจักรกัน แต่เมื่อถึงตาที่อพอลโล่เป็นคนขว้างไปหาคนรัก เซอฟีรัสได้ทีก็เลยแกล้งออกแรงเป่าลมไปที่จักร ทำให้มันพุ่งแรงกว่าที่อพอลโล่ตั้งใจ พุ่งไปปักอกของเจ้าชายไฮยาชินจนขาดใจตายคาที่ อพอลโล่รีบวิ่งไปประคองคนรักแต่ก็ตายเสียแล้ว เทพอพอลโล่ผู้ไม่อยากจะพรากจากคนรักจึงเสกให้เลือดของไฮยาชินที่ไหลท่วมกลายเป็นดอกไม้แสนงามสีแดงเหมือนเลือด แล้วตั้งชื่อมันว่าดอกไฮยาชิน แต่เมื่อน้ำตาของอพอลโล่หยดลงไปถูกดอกไฮยาชิน สีแดงของดอกไม้ก็เปลี่ยนเป็นสีม่วงอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้นั้นเอง

ตำนานดอก Forget-Me-Not
คำว่า " Forget-Me-Not" แปลว่า " อย่าลืมฉัน " เป็นคำพูดสุดท้ายของผู้ชายคนหนึ่งก่อนที่ความตายจะมาพรากเขาไปจากสาวคนรัก หนุ่มคนนี้มีชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว เขาเป็นอัศวินผู้กล้าหาญ ซึ่งมีคนรักเป็นสาวงาม ครบสูตรคู่รักเพอร์เฟ็คท์ของสมัยนั้น วันหนึ่งทั้งคู่ไปเดินเล่นริมแม่น้ำ บังเอิญสาวคนรักเหลิบไปเห็นดอกไม้แปลกหน้าสีม่วงเข้มสดใส ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนมาก่อนชูดอกงามอยู่ริมตลิ่ง เธอก็เลยขอร้องคนรักให้ลงไปเก็บให้ ซึ่งเขาก็ทำตามโดยดี แต่โชคร้ายที่ตลิ่งลื่นมาก และตัวเขาก็ใส่เสื้อเกราะเหล็กซึ่งหนักอึ้งอยู่ ชายหนุ่มก็เลยลื่นตกลงไปในแม่น้าเชี่ยวกราก เขาพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอด แต่เพราะน้ำหนักเสื้อทำให้จมลงไปทุกที ชายหนุ่มรู้ว่าจุดจบของเขาคงจะมาถึงแน่แล้ว เขาจึงโยนดอกไม้ดอกงามขึ้นไปให้สาวคนรักและตะโกนบอกเธอเป็นประโยคสุดท้ายว่า " Ne moubliez pas......อย่าลืมฉันนะที่รัก " จากนั้นร่างของเขาก็จมหายลงไปในแม่น้ำ " ดอก Forget-Me-Not " ( เป็นคำในภาษาอังกฤษแปลว่าอย่าลืมฉัน ) จึงถูกตั้งให้เป็นตัวแทนของรักแท้ที่ไม่มีวันดับ เหมือนความรักของอัศวินหนุ่มกับสาวคนรักนั่นเอง
ตำนานดอกเบญจมาศ
ในญี่ปุ่นมีเรื่องเล่าของ " ดอกเบญจมาศ " ว่าผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ " คิกุโนะ " กับสามีของเธอรักกันมาก แต่สามีเป็นคนขี้โรคป่วยกระเสาะกระแสะตลอดเวลาวันหนึ่งหมอก็แจ้งข่าวร้ายว่าสามีของเธอคงจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงเดือนเดียว คิกุโนะได้ฟังก็เสียใจ รีบวิ่งไปอธิษฐานกับพระในศาลเจ้าขอให้สามีเธอมีชีวิตยืนยาวกว่านั้น จากนั้นเธอก็เผลอหลับไปในความฝันคนแก่คนหนึ่งมาบอกกับคิกุโนะว่าถ้าหาดอกไม้มาบูชาเทพเจ้าได้มากกลีบเท่าไรท่านก็จะให้สามีของเธอยู่ได้นานปีเท่ากับจำนวนกลีบดอกไม้นั้น เมื่อตื่นขึ้นมาคิกุโนะจึงออกตามหาดอกไม้ที่มีกลีบมากๆ แต่ไม่มีดอกไหนเลยที่จะมีกลีบดอกมากเท่าที่เธอต้องการ ในที่สุดเธอก็เลยตัดสินใจเอาดอกไม้ที่มีกลีบมากที่สุดมีกรีดให้แต่ละกลีบเป็นฝอยยาวจนกลายเป็นดอกไม่ที่มีกลีบนับไม่ถ้วน แล้วเอาไปถวายเทพเจ้า เทพเจ้าเห็นความตั้งใจจริงของคิกุโนะจึงบันดาลให้สามีหายจากโรคร้าย อยู่กับเธอไปจนแก่เฒ่า ดอกไม่ที่คิกุโนะทำขึ้นจึงถูกตั้งชื่อว่า " ดอกคิกุโนะ " หรือ " ดอกเบญจมาศ " ในภาษาไทยหมายถึงความจริงใจและแสงสว่างแห่งความหวัง

ตำนานดอกโบตั๋น ในสมัยของบูเช็กเทียน จักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนขึ้นครองราชย์ ด้วยความที่พระองค์ทรงโปรดดอกโบตั๋นมาก จึงทำให้โบตั๋นกลายเป็นดอกไม้ที่แพร่หลายในเมืองฉางอาน เมืองหลวงของจีนในสมัยถัง โดยทั้งนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แหล่งกำเนิดของดอกโบตั๋นในประเทศจีนก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด บ้างว่าพระนางบูเช็กเทียนนำดอกไม้ชนิดนี้มาจากบ้านเกิด บ้างว่านำมาจากจิงโจว ทั้งนี้มีตำนานเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งกลางฤดูหนาว พระนางบูเช็กเทียนอยากชมดอกไม้ จึงออกคำสั่งให้ดอกไม้ทั้งหมดในเมืองฉางอานบาน ด้านเทพดอกไม้ต่างๆ เมื่อได้ยินดังนั้นก็ตกใจกลัวพากันบานโดยพร้อมเพรียง จะมีแต่ก็เพียงเทพเจ้าดอกโบตั๋นเท่านั้นที่แข็งขืนไม่ยอมบาน เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ถึงฤดูกาล หากดอกโบตั๋นบานก็จะเป็นการผิดกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ด้านพระนางบูเช็กเทียนเมื่อเห็นว่าดอกโบตั๋นไม่ยอมบาน จึงสั่งให้ขุนนางเอาไฟเผาที่ต้นเสียจนดอกโบตั๋นต้องยอมบาน เรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่ากันต่อๆ มาว่าทำไมก้านดอกโบตั๋นจึงแห้งและมีสีเข้มเหมือนถูกไฟเผา อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไม่จบเพราะแม้สุดท้ายดอกโบตั๋นจะยอมบาน แต่พระนางบูเช็กเทียนก็ทรงยังไม่พอพระทัย สั่งให้ย้ายดอกโบตั๋นทั้งหมดออกจากฉางอานไปยังลั่วหยาง และนี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมลั่วหยางจึงกลายเป็นถิ่นถาวรของดอกโบตั๋นในที่สุด***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ปฏิทินของฉัน